Blog: บทความ

การป้องกันสนิม โดยการออกแบบ

บทความที่ 6

การป้องกันสนิม โดยการออกแบบ

สวัสดีครับ วันนี้ admin จะมาพูดถึงการป้องกันสนิมวิธีที่ 3 จากทั้งหมด 6 วิธีที่เคยนำเสนอให้ทุกท่านรับทราบไปแล้วครับ

1. การเลือกใช้โลหะให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

2. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่ใช้งาน

3. การออกแบบ

4. การเคลือบผิว (Coating)

5. การป้องกันแบบแคโทดิก (Cathodic Protection)

6. การป้องกันแบบแอโนดิก (Anodic Protection)

การออกแบบเพื่อป้องกันสนิม มักจะแยกไม่ออกกับวิธีป้องกันสนิมรูปแบบอื่นๆ เพราะการออกแบบจะรวมถึงการเลือกใช้วัสดุ การทาสี การปรับสภาพแวดล้อม การใช้ระบบ cathodic protection หรือการใช้วิธีป้องกันสนิมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ผสมผสานกันให้เกิดการป้องกันที่เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือ ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าการออกแบบเป็นหนึงในปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันสนิมเลยก็ว่าได้ การป้องกันสนิมโดยการออกแบบมักจะต้องอาศัยประสบการณ์และข้อมูลการใช้งานที่ผ่านมาประกอบ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบให้มีความถูกต้องและเหมาะสมมากที่สุด ตัวอย่างการออกแบบเพื่อป้องกันสนิม เช่น

1. ออกแบบเพื่อให้ส่วนที่เกิดสนิมสามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย: ตามรูปที่ 1 (จากหนังสือ Corrosion and Protection ของ Einar Bardal) จะเห็นได้ว่าท่อทองแดงติดตั้งใช้งานร่วมกับท่อเหล็ก ทำให้ส่วนของท่อเหล็กที่อยู่ชิดกับท่อทองแดงจะมีโอกาสเกิดสนิมได้ง่ายจาก Galvanic Corrosion ดังนั้นหากผู้ใช้งานออกแบบให้ท่อเหล็กบริเวณดังกล่าวถอดเปลี่ยนได้ง่ายก็จะลดปัญหาในการดูแลรักษาได้มาก

2. เลือกลวดเชื่อมที่มีคุณสมบัติทนการเกิดสนิมดีกว่า Base Metal เล็กน้อย: ตามตัวอย่างในรูปที่ 2 (จากหนังสือ Principles of Corrosion Engineering and Corrosion Control ของ Zaki Ahmad) โดยหากใช้ลวดเชื่อมที่ทนสนิมได้น้อยกว่า Base Metal จะมีผลที่ตามมาคือ แนวเชื่อมเป็นสนิมและผุทะลุเนื่องจาก Galvanic Effect เพราะแนวเชื่อมที่มีพื้นที่ผิวน้อยกว่า Base Metal หลายเท่า จะสูญเสียอิเล็กตรอนอย่างรวดเร็วให้กับ Base Metal ทำให้แนวเชื่อมจึงเป็นสนิมและผุทะลุในช่วงเวลาที่สั้นมาก แต่ถ้าแนวเชื่อมทนสนิมได้ดีกว่า Base Metal สถานการณ์จะกลับกันคือ Base Metal จะสูญเสียอิเล็กตรอนให้กับแนวเชื่อมแทน และเนื่องจากพื้นที่ผิวของแนวเชื่อมน้อยกว่าพื้นที่ผิวของ Base Metal หลายเท่า ดังนั้นการเกิดสนิมที่ Base Metal จึงดำเนินไปอย่างช้าๆ และเสียหายน้อยกว่า

3. ออกแบบให้อุปกรณ์มีความหนาเพียงพอกับการเกิดสนิม: ในบางครั้งหากการออกแบบและเลือกใช้ระบบป้องกันสนิมวิธีต่างๆ อาจจะมีราคาสูงหรือต้องดูแลและบำรุงรักษามาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน การใช้วัสดุที่หนากว่าปกติเพื่อให้อุปกรณ์ใช้งานได้ในระยะเวลาที่ต้องการก็เป็นทางเลือกที่ดีวิธีหนึ่ง เช่น ปกติเราเลือกใช้ท่อเหล็กหนา 4 mm. เมื่อใช้งานผ่านไป 2 ปี ท่อเหล็กเหลือความหนา 2 mm. ทำให้ต้องเปลี่ยนท่อใหม่เพราะท่ออาจจะทนกำลังดันภายในไม่ได้ ดังนั้นหากเราเลือกใช้ท่อที่ความหนา 6 mm. อาจจะทำให้ใช้งานได้มากขึ้นเป็น 4 ปี ซึ่งถ้าประเมินแล้วว่าราคาท่อที่ต้องจ่ายเพิ่มมีความคุ้มค่าและลดความยุ่งยากในการบำรุงรักษาลงได้ ก็มีความเหมาะสมที่จะเลือกใช้วิธีนี้

จากตัวอย่างทั้ง 3 ที่ admin นำมาเสนอนั้น บางท่านอาจจะมองว่าไม่ยุ่งยากและง่ายกว่าที่คิด แต่ในการใช้งานจริงมักจะมีความซับซ้อนกว่าตัวอย่างค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ การค้นคว้า และเก็บข้อมูลร่วมด้วยจึงจะสามารถออกแบบระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมได้า สำหรับครั้งต่อไป admin จะนำพื้นฐานของการเคลือบผิวมาฝากทุกๆ ท่าน ครับ วันนี้ admin ขอหยุดไว้เท่านี้ก่อน สวัสดีครับ

Related Tag

Related Post